LOREM IPSUM DOLOR

Archives

Mobile: 02-428-6688 | Mail: journeylaos@gmail.com

เยือนหลวงพระบาง 10 ปีครั้ง (ก็ยังหลงรัก)

เยือนหลวงพระบาง 10 ปีครั้ง (ก็ยังหลงรัก)


การมาเยือน “เมืองหลวงพระบาง” ครานี้ เหมือนได้กลับมาเจอคนรักเก่า ทำให้นึกถึงความรู้สึกของการตกหลุมรักครั้งแรก

เมื่อ 10 ปีที่แล้วเมืองมรดกโลกแห่งนี้เป็นจุดหมายปลายในฝันของใครหลายคนที่อยากได้มาสัมผัสสักครั้ง เมืองเล็กๆ ที่ใครต่อใครต่างตกหลุมรักในเสน่ห์แห่งความเงียบ-งาม-ง่าย แต่ท่ามกลางความเงียบสงบ ศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม และวิถีชีวิตเรียบง่ายของคนพื้นถิ่น เมื่อได้กลับมาอีกครั้งก็พบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ซุกตัวอยู่ในแง่มุมต่างๆ วัฒนธรรมแห่งยุคสมัยใหม่ที่ดูเหมือนจะกลมกลืน แต่ก็เต็มไปด้วยความแปลกแยกที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็คุ้นชินกับวิถีที่มันก็เป็นเช่นนี้ในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ แทบทุกที่

 

 

เมื่อสิบปีที่แล้วมีโอกาสเดินทางมาที่หลวงพระบาง โดยแบกเป้มาในฐานะนักท่องเที่ยว ใช้เส้นทางหนองคาย ผ่านเวียงจันทน์ แวะค้างคืนที่วังเวียง และถึงที่หมายปลายทางที่หลวงพระบาง ได้ดื่มด่ำการย่ำตรอกซอกซอยละเลียดชมความงามของเมืองแห่งวัดวาอาราม เมืองที่ขนาบข้างด้วยแม่น้ำสองสายมาบรรจบกันคือน้ำคานและน้ำของ (หรือน้ำโขง)

 

 

มาหนนี้ เดินทางมาพร้อมคณะชาวค่ายพนักงานอาเซียน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เช็คอินกันที่แขวงหลวงพระบาง ลากกระเป๋ามาพร้อมเป้าหมายในการเรียนรู้และเตรียมพร้อมกับการทำงานในสังคมต่างวัฒนธรรม โดยมีหัวข้อที่สนทนากันบ่อยในช่วงนี้คือ เราจะเตรียมตัวอย่างไรในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงก้าวสู่สังคมหลากหลายวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ และลาวก็เป็นหนึ่งในมิตรประเทศที่หลายคนเชื่อว่ามีความใกล้ชิดและใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด แต่เมื่อมาสัมผัสจริงๆ ในรายละเอียดก็มีอีกหลายมุมที่เราอาจต้องกลับมาทบทวนความเชื่อกันใหม่ เพื่อลดช่องว่างระหว่างความเป็นจริงและสิ่งที่เราคิดไปเอง ซึ่งแท้จริงเราต่างต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นใน 10 ประเทศอาเซียนที่ต้องสร้างประชาคมร่วมกันทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม

 

 

ลงเรือลำเดียวกัน

การเดินทางครั้งนี้ เราเลือกข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย แล้วล่องน้ำโขงจากท่าเรือห้วยทรายฝั่งลาวไปยังทาเรือหลวงพระบาง ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่มากไม่น้อย ชาวค่ายเกือบ 50 ชีวิตสามารถทำกิจกรรมและใช้เวลาร่วมกันบนเรือได้อย่างเต็มที่ สองฟากแม่น้ำเต็มไปด้วยโขดหินซึ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วงฤดูน้ำลด เมื่อเข้าเขตประเทศลาวทั้งสองฝั่ง สิ่งที่ทำให้เราประทับใจก็คือความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้สีเขียวตลอดแนว และจะเห็นปุยเมฆคลอเคลียอยู่กับทิวเขาตลอดเวลา ใครอยากพักสายตาจากป่าคอนกรีต เชื่อว่าจะเป็นทริปล่องน้ำเนิบช้าที่แสนเพลิดเพลิน

 

 

ตักบาตรข้าวเหนียว

กลายเป็นประเพณีนิยมและมุมถ่ายภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองมรดกโลกแห่งนี้ไปแล้ว นั่นก็คือการตักบาตรข้าวเหนียวในยามเช้า จำได้ว่าเมื่อสิบปีที่แล้วเราตื่นแต่เช้าตรู่ออกมาเดินทอดน่องสูดอากาศแสนสดชื่น ชมบรรยากาศเมืองที่แสนจะเงียบงาม และใช้บริการของแม่ค้าที่มารอเตรียมกระติบข้าวเหนียวเล็กๆ ให้กับนักท่องเที่ยวในราคากันเอง เมื่อถึงเวลา 06.00 น. เสียงกลองดังขึ้น ก็จะมีพระและเณรของแต่ละวัดออกมาเรียงแถวยาวเหยียดพร้อมๆ กันเพื่อรับบิณฑบาตบนถนนหลายหลัก

ครั้งนี้คณะของเรามาปักหลักที่บริเวณหน้าวัดแสนสุขาราม ทุกอย่างถูกจัดเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยว ทั้งเสื่อ เบาะนั่ง กระติบข้าวเหนียว ตะกร้าขนม ในอัตราค่าบริการกระติบละหนึ่งร้อยบาท ถ้าอยากจะใส่บาตรขนมด้วยก็เพิ่มอีกหนึ่งร้อยบาท ทุกอย่างถูกจัดการไว้อย่างเป็นระบบ มีพระเณรเดินออกมาเป็นชุดๆ เพื่อปฏิบัติพุทธภารกิจ แน่นอนว่ามันอาจให้ความรู้สึกที่แปลกไปสักหน่อย แต่เพื่อให้ทุกอย่างสามารถควบคุมดูแลได้ก็ต้องมีระบบบริหารจัดการ

 

 

รองท้องยามเช้า

หลังจากเดินตลาดเช้าเสร็จแล้ว หลายคนเรียกร้องอยากได้กาแฟสักหนึ่งจอก ร้านกาแฟที่เหมือนจะมีชื่อเสียงและเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงเป็น “ร้านกาแฟประชานิยม” ติดริมถนนสีสะหว่างวงฝั่งแม่น้ำโขง มีเมนูง่ายๆ ที่แสนจะคุ้นเคยอย่างเช่น กาแฟดำ กาแฟนม โกโก้ร้อน น้ำชา ไข่ลวก ปาท่องโก๋ เป็นร้านที่ไม่ได้อะไรเป็นจุดขายแบบสมัยใหม่ มีเพียงกลิ่นกรุ่นวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบางที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างที่กลายร่างตามสมัย(คนเมือง)นิยมไปหมดแล้ว และหากมาหลวงพระบางต้องห้ามพลาดชิมอาหารลาวอีกสองอย่างที่หาทานได้ง่ายคือ เฝอ หรือก๋วยเตี๋ยวลาว และปาเต๊ะ หรือขนมปัง(ฝรั่งเศส)ผ่ากลางใส่ไส้ บางคนเรียกแฮมเบอร์เกอร์ลาว หากได้ไปเดินตลาดเช้าหลวงพระบางก็น่าจะแวะลอง ซึ่งเป็นที่นิยมของทั้งนักท่องเที่ยวและชาวลาวเอง

 

 

จุดเช็คอินขึ้นชื่อ

เดินทางมาหลวงพระบางไม่ต้องกังวลเรื่องการติดต่อสื่อสารหรือการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค นอกจากจะฟรี Wi-Fi ในร้านต่างๆ แทบทุกที่แล้ว ยังสามารถซื้อซิมลาวที่ให้บริการทั้ง 3G, 4G ในราคาที่ยอมรับได้ ถ่ายรูปเสร็จจะทวีตหรืออัพโหลดลงเฟสบุ๊คก็ทำได้สะดวกสบาย และสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับผู้มาเยือนครั้งแรกก็มีอยู่หลายที่ด้วยกัน เช่น

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง ที่สามารถชมงานศิลปะชั้นสูงอันงดงามของชาวลาว อาจต้องมีเวลาพอสมสมควรในการเยี่ยมชมแต่ส่วนที่จัดแสดงเอาไว้ หากกำลังขายังดีและอยากซึมซับทิวทัศน์มุมสูงแบบพาโนรามาของหลวงพระบาง ขอแนะนำการเดินขึ้นสู่พระธาตุพูสี ที่เป็นเหมือนใจกลางเมืองเอกแห่งนี้ก็ว่าได้

วัดเซียงทอง ที่ขึ้นชื่อเรื่องสถาปัตยกรรมอันงดงาม งานประติมากรรมด้านหลังวิหารอันโด่งดัง นอกจากนี้ยังสามารถนั่งเรือไปชมความงดงามของพระพุทธรูปนับพันนับหมื่นองค์ที่ถ้ำติ่ง หรืออยากออกไปชมวิถีชีวิตในหมู่บ้านต่างๆ ก็ทำได้ เช่น บ้านผานม ที่นิยมไปซื้อผ้าทอ, บ้านช่างฆ้อง ที่ขึ้นชื่องานกระดาษสา

 

 

ชมเมืองจากฝั่งคานสู่ฝั่งโข

แม้ว่าการเดินทางครั้งนี้ จะไม่มีเวลาเดินละเลียดชมเมือง แต่ยังมีโอกาสนั่งรถสัมผัสบรรยากาศรอบๆ เขตมรดกโลก ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เวลามากนัก โดยใช้เส้นทางถนนเลียบแม่น้ำจากฟากติดฝั่งโขงวกกลับสู่ฟากติดฝั่งแม่น้ำคาน ทั้งวัดวาอารามและตึกรามบ้านช่อง ยังคงถูกอนุรักษ์เอาไว้อย่างดี วัดวาบางส่วนดูเสื่อมโทรมลงไปบ้างหลังจากที่ไม่ได้มาเป็นสิบปี ตรงข้ามกับบ้านโบราณที่มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส ถูกจับแต่งตัวใหม่ด้วยงานออกแบบตกแต่งผสมผสานเก่า-ใหม่ กลายเป็นร้านอาหาร ร้ากาแฟ เบเกอรี่ และเกสท์เฮ้าส์ ลบภาพโรงแรมร้างในอดีตที่เคยมาเดินท่องหาห้องพักเมื่อตอนเป็นนักท่องเที่ยวแบกเป้

ทุกอย่างดูเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามมากขึ้น แต่ในทางกลับกันวิถีดั้งเดิมก็ถูกลบกลบหายไป อาจไม่ใช่โดยสิ้นเชิง ที่ทางของคนท้องถิ่นก็ยังมีให้เห็น แต่อาจเปลี่ยนบทบาทไปในแง่ของการรองรับนักท่องเที่ยว แม้รอบนอกเองก็ยังต้องรับมือกับความเจริญที่กระจายออกไปรวดเร็ว อย่างเช่นโชว์รูมรถยนต์หลากค่ายที่ผุดขึ้นแย้งสายตากับภาพชุมชนโดยรอบ

 

 

บุฟเฟต์สิบพันกีบ

ก่อนจะตะลุยถนนคนเดินหลวงพระบางในช่วงค่ำ นักเดินทางหลายคนเลือกฝากท้องไว้กับบุฟเฟต์สิบพันกีบ ซึ่งมีหลายร้านฝังตัวอยู่ในตรอกข้างโรงแรมแอนเชียนท์ (บ้านโพนเฮือน) จุดเริ่มของถนนคนเดินบนถนน (ใกล้สี่แยกที่ทำการไปรษณีย์) มีอาหารหลากหลายแบบให้เลือกชิม และที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวนานาชาติเห็นจะเป็นร้านบุฟเฟต์รวมอาหารนานาชนิด โดยหนึ่งคนจะได้รับชามหนึ่งใบ(ประมาณชามก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา)ต่อราคาหนึ่งหมื่นกีบ หรือที่คนหลวงพระบางเรียกว่าสิบพันกีบ (อัตราค่าแลกเปลี่ยน 1 บาทต่อ 240 กีบ) โดยสามารถตักได้ไม่อั้นเท่าที่ชามจะใส่ได้ แต่ตักได้รอบเดียวเท่านั้น มีทั้งต้ม ผัด ลวก นึ่ง ส่วนมากจะเน้นไปที่ผักและอาหารจำพวกเส้น และมีขนมให้เลือกอีกสองสามอย่าง ทานอาหารลาวแล้วพลาดไม่ได้ที่ลองจิบเบียร์ลาวที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอีกอย่างหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยว

 

 

ถนนคนเดิน

ช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็น บริเวณหน้าพระราชวังเก่า บนถนนสีสะหว่างวง จะเริ่มมีพ่อค้าแม่ค้าชาวหลวงพระบางมาปูเสื่อจัดวางสินค้าของที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เรียกแบบภาษาลาวว่า “ตลาดมืด” หรือถ้าเรียกแบบไทยก็คือถนนคนเดินนั่นเอง สินค้าที่วางขายก็มีมากมายให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด ผ้าทอ ผ้าซิ่น ผ้าคลุม ตุ๊กตา ภาพวาด และอีกมากมาย ซึ่งส่วนมากสินค้าจำหน่ายในราคานักท่องเที่ยว สามารถต่อรองได้ตามความสามารถส่วนบุคคล โดยมากหน้าตาสินค้าไม่ต่างจากถนนคนเดินเชียงใหม่หรือถนนคนเดินเชียงรายมากนัก สุดแท้แต่ความพึงพอใจในการจับจ่ายของแต่ละคน หรือจะเลือกของฝากเป็นของทานเล่นจากตรอกบุฟเฟต์สิบพันกีบก็ได้ แต่เรื่องรสชาติก็มีทั้งถูกปากและแปลกลิ้น หลายคนเลือกเดินถ่ายภาพและเดินชมเพื่อความเพลิดเพลินก็ได้เช่นกัน

 

 

เต้นสะบัดที่บาร์บัดสลบ

ในการเดินทางครั้งนี้มีเพื่อนชาวลาวร่วมทริปมาด้วยหลายท่าน จึงมีเสียงเรียกร้องให้เจ้าถิ่นพาไปชมแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนของหลวงพระบางสักครั้ง เราจึงมีโอกาสได้ไปเที่ยวบาร์ของลาวเป็นครั้งแรก และที่เพื่อนชาวลาวพาไปเป็นบาร์ “บัดสลบ” เหลือเพียงแห่งเดียวในหลวงพระบางที่มีชื่อว่า “เมืองซัว” ซึ่งบริกรสาวให้คำอธิบายว่าหมายถึงสถานที่สำหรับเต้นรำ เพราะมีจุดเด่นคือมีฟลอร์ด้านหน้าเวทีให้แขกที่ไปเที่ยวได้ออกไปร่วมเต้นรำกัน คล้ายฟลอร์รำวงบ้านเรา มีวงดนตรีเล่นสดและนักร้องเสียงดีใส่ชุดซิ่นลาวสวยงาม

ที่ประทับใจคือแต่ละเพลงแต่ละจังหวะก็จะมีท่าเต้นเฉพาะที่เต้นได้ทั้งชายหญิง และหากหนุ่มไหนไม่มีคู่ก็จะมีบริกรสาวของร้านเป็นเพื่อนเต้นรำวงด้วย ซึ่งดูไม่น่าจะยาก แต่เมื่อออกไปลองเต้นบนฟลอร์แล้วพบว่า สิ่งที่เราคิดไม่ตรงกับสิ่งที่เป็น เต้นไปขาพันกันไป จึงตั้งใจเอาไว้ว่าจะกลับไปฝึกที่ฟลอร์เต้นรำถนนคนเดินเชียงราย แล้วกลับมาปะทะกับสาวหลวงพระบางอีกครั้ง

 

 

แล้วเราจะกลับมาพบกัน

วันสุดท้ายที่เราต้องล่องเรือกลับ หลายคนรู้สึกเหมือนยังใช้เวลาอยู่กับเมืองหลวงพระบางไม่มากพอ เพราะยังมีอีกหลายมุมที่อยากเข้าไปค้นหา แต่ด้วยเวลาที่จำกัด ด้วยภาระหน้าที่ที่รอคอยอยู่ ทำให้ต้องจำใจโบกมืออำลา ด้วยความรู้สึกเหมือนได้ตกหลุมรักคนที่เรารู้ว่าต้องจากกันในตอนจบอยู่ดี

 

 

เชื่อว่าใครที่ได้ตกหลุมรักหลวงพระบางแล้ว การมาครั้งเดียวไม่เคยพอ…จนกว่าเราจะพบกันใหม่

 

 

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

March 2024
M T W T F S S
« May    
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031